กระเป็นจุดสีน้ำตาลอ่อนเล็กๆ ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายจุดตามผิวหนังส่วนต่างๆของร่างกาย ทั้งลำคอ แขน ขา หน้า บางครั้งก็เป็นกระที่เรียบเนียนไปกับผิว แต่บางครั้งก็เป็นกระแบบนูนขึ้นมาเป็นติ่งเนื้อ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนผิวขาวมากกว่าคนผิวคล้ำ และจะพบตั้งแต่วัยเด็ก พออายุมากขึ้นกระก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและสีคล้ำขึ้นได้
กระมีทั้งหมด 4 แบบ ดังนี้
1. กระตื้น
กระตื้นจะเป็นจุดสีน้ำตาลเล็กๆ มักจะพบบริเวณที่โดนแดดมากอย่างโหนกแก้มทั้ง 2 ข้าง, จมูก, แขน, ขา, หน้าอก สาเหตุเกิดจากเซลล์เม็ดสีใต้ผิวหนังทำงานผิดปกติ ส่วนใหญ่ก็เกิดจากพันธุกรรมที่ทำให้เซลล์เม็ดสีมีความไวต่อแสงแดดมากกว่าปกติ ทำให้มีกระขึ้นตั้งแต่ยังเด็ก ยิ่งได้เจอกับแสงแดดบ่อยๆโดยไม่ได้ป้องกันก็มีโอกาสทำให้กระเข้มขึ้น เพิ่มจำนวนมากขึ้น และขยายใหญ่ขึ้นด้วย
2. กระลึก
กระลึกมีลักษณะเป็นจุดเล็กๆ มักมีสีน้ำตาล, เทา หรือดำ มีขอบที่ไม่ชัด มองดูคล้ายกับฝ้า พบได้บริเวณโหนกแก้ม, ดั้งจมูก, ขมับทั้ง 2 ข้าง สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดสีบริเวณชั้นหนังแท้ ที่ถูกกระตุ้นโดยรังสี UV จากแสงแดดร่วมกับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นช่วงวัยรุ่นหรือช่วงตั้งครรภ์ ทำให้ยิ่งอายุมากยิ่งเห็นกระชัดขึ้น
3. กระเนื้อ
กระเนื้อมีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ มีสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงน้ำตาลเข้ม พบมากบริเวณใบหน้า, ลำคอ, หน้าอก, หลัง โดยขึ้นเป็นตุ่มเนื้อเล็กๆและจะค่อยๆขยายใหญ่ขึ้น นูน และมีสีเข้มขึ้น สาเหตุเกิดจากผิวหนังชั้นหนังกำพร้าเจริญเติบโตมากผิดปกติ ซึ่งมีตัวกระตุ้นคือแสงแดดและอายุที่มากขึ้น ยิ่งอายุมากขึ้น ขนาดกระก็จะใหญ่ขึ้นและจำนวนก็มากขึ้นด้วย
4. กระแดด
กระแดดมีลักษณะเป็นจุดหรือปื้นเรียบๆ มีสีน้ำตาลหรือสีดำ ขอบชัด พบบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดดบ่อยๆ เช่น ใบหน้า, แขน, ขา เป็นต้น สาเหตุเกิดจากการได้รับแสงแดดแรงๆ จากการเล่นกีฬา ทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือการรักษาโรคอื่นๆอย่างการรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยการฉายแสง UVA ก็มีผลทำให้เกิดกระแดดได้เช่นกัน
ภาพจาก https://www.pobpad.com
วิธีการรักษากระ
1. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดกระ
ตัวการสำคัญที่ทำให้กระเกิดขึ้นคือแสงแดด ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงแสงแดดโดยเฉพาะแสงแดดช่วงบ่าย แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ให้สวมหมวก กางร่ม และทาครีมกันแดดที่มี SPF 30 PA+++ ขึ้นไป นอกจากนี้ยาบางชนิดยังมีส่วนทำให้เป็นกระได้เช่นกันอย่างยาคุม
2. ใช้ยารักษากระ
กระสามารถหายได้ด้วยการทายาที่มี AHA และวิตามินเอเป็นส่วนประกอบ ซึ่ง AHA และวิตามินเอมีช่วยในการผลัดเซลล์ผิวเก่าและกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ แต่ต้องทาติดต่อกันต่อเนื่องประมาณ 2 – 6 เดือน ถึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลง วิธีนี้เป็นวิธีที่เห็นผลช้าแต่เป็นวิธีที่ปลอดภัยและผลข้างเคียงน้อย
แต่มีสารอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เป็นสารที่ช่วยออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง ทำให้ใบหน้าแลดูกระจ่างใสขึ้นอย่างรวดเร็ว บางคนอาจเลือกใช้สารตัวนี้ช่วยในการรักษากระ เพราะให้ผลทันที แต่ผลข้างเคียงของมันก็ร้ายแรงมากเช่นกัน ทำให้หน้าดำ มีจุดด่างขาวเกิดขึ้นที่ใบหน้า และหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 6 เดือน ก็จะทำให้หน้าเป็นฝ้าถาวร รักษาไม่หาย รวมถึงมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังด้วย ปัจจุบันยาชนิดนี้ถูกสั่งห้ามนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายทั่วไป แต่ทางคลินิกที่จ่ายยาโดยแพทย์ ยังสามารถจ่ายให้ผู้ป่วยได้อยู่ แต่การใช้ยาชนิดนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด
3. รักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์
ปัจจุบันเทคโนโลยีการแพทย์ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาก และมีหลายรูปแบบที่ช่วยรักษากระบนใบหน้าให้ดีขึ้นได้ ซึ่งวิธียอดนิยมในการรักษากระคือ การใช้เลเซอร์เพื่อทำให้กระจางลง โดยวิธีการรักษาแบบนี้เป็นการยิงคลื่นแสงความยาวคลื่นต่างๆ ลงไปถึงชั้นผิวด้านใน เพื่อให้ผิวซ่อมแซมตัวเองพร้อมกับผลัดเซลล์ผิวได้เร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ เช่น การทำทรีตเมนท์, การฉีดเมโส, การทำไอออนโต ที่จะช่วยรักษากระได้เช่นกัน ทั้งนี้ควรเลือกคลินิกที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนทำให้ เพื่อผลการรักษาที่ดีค่ะ