อาการปวดท้องน้อยเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะบริเวณในท้องน้อยผู้หญิงเป็นที่อยู่ของมดลูก รังไข่และกระเพาะปัสสาวะ เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นจึงทำให้ปวดท้องได้ทันที หลายคนอาจสงสัยว่าท้องน้อยอยู่ตรงไหน ก็ให้คลำลงไปตรงตำแหน่งต่ำกว่าอุ้งเชิงกรานหรือต่ำกว่าสะดือ นั่นแหละค่ะท้องน้อย อาการปวดท้องน้อยมีทั้งปวดแบบเฉียบพลัน ปวดรุนแรง ปวดตื้อๆ ปวดแบบบีดรัดไปจนถึงปวดมากแต่ไม่เรื้อรัง สาเหตุที่ทำให้ปวดก็มีหลายสาเหตุด้วยกัน หนึ่งในนั้นก็คือการเป็นประจำเดือนค่ะ แต่หากผู้ชายปวดท้องน้อยล่ะก็ อาจจะเกิดมาจากความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะค่ะ
สำหรับผู้หญิงคนไหนที่มีอาการปวดท้องน้อยบ่อยๆนอกจากการปวดจากประจำเดือนแล้ว อาจจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคอื่นๆได้ เรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าอาการปวดท้องน้อย เสี่ยงต่อเป็นโรคอะไรได้บ้าง
โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease; PID)
เป็นการอับเสบที่เกิดจากการติดเชื้ออวัยวะสืบพันธุ์ส่วนบนของผู้หญิง ได้แก่ มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่และอวัยวะใกล้เคียง โรคนี้ติดต่อได้หากมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะคนที่ชอบเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ หรือคนที่มีอาการปวดท้องน้อยทั้งสองข้างก่อนและหลังเป็นประจำเดือน จะปวดเกร็งเป็นระยะ และจะปวดมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวหรือมีเพศสัมพันธ์ คนที่เป็นโรคนี้จะมีตกขาวมากผิดปกติ สีเหลืองคล้ายหนอง ปัสสาวะแสบขัด มีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด มีไข้ แต่โรคนี้ไม่ได้ร้ายแรงใดๆ สามารถหายได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่เมื่อเป็นแล้วต้องรีบรักษานะคะ ไม่งั้นจะทำให้มีลูกยากหรือท้องนอกมดลูกได้
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
โรคนี้เวลาปัสสาวะมักจะปวดท้องน้อย โดยเฉพาะเวลาที่ปัสสาวะสุด ทั้งยังปัสสาวะบ่อยขึ้นด้วย สาเหตุเป็นเพราะเชื้อแบคทีเรียเข้าไปทางท่อปัสสาวะ ถ้าเป็นแล้วควรรีบรักษา หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เป็นโรคกรวยไตอักเสบหรือโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ ส่วนมากโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบมักจะเกิดกับคนที่ชอบอั้นปัสสาวะค่ะ
ถุงน้ำรังไข่บิดขั้ว หรือ ถุงน้ำรังไข่แตก (Twisted or ruptured ovarian cyst)
คนที่เป็นโรคนี้จะปวดท้องน้อยเฉียบพลันในด้านที่มีรังไข่บิดขั้ว ในระยะแรกจะปวดเป็นพักๆ ปวดเวลาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่างๆ บางครั้งอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย หากรังไข่บิดขั้วมานานจะมีอาการไข้ร่วมกับปวดท้องรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และหากยิ่งมีการบิดขั้นรุนแรงมากขึ้นจะทำให้รังไข่คั่งเลือด หากถุงน้ำรังไข่แตกจะทำให้เส้นเลือดฉีกขาดจนเลือดตกในท้องถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถ้าเป็นแบบนี้ต้องรีบทำการผ่าตัดโดยด่วนค่ะ
ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy)
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์แล้วรู้สึกปวดท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่งและมีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด ให้รีบไปพบแพทย์ด่วนเลยนะคะ เพราะอาจจะเป็นการท้องนอกมดลูกได้ หากปล่อยให้ตัวอ่อนเติบโตนอกมดลูก ก็จะทำให้อวัยวะฉีกขาด เลือดออกในช่องท้องและร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้หญิงที่เสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูกได้คือผู้หญิงที่เคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เคยได้รับการผ่าตัดทางช่องท้อง เคยใช้ยาหรือเทคนิคกระตุ้นให้ไข่ตก เคยมีประวัติสำส่อนทางเพศ รวมไปถึงคนที่ชอบสูบบุหรี่จัดด้วยค่ะ
ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)
ใครที่เป็นไส้ติ่งอักเสบจะรู้สึกปวดท้องน้อยบริเวณด้านล่างขวาแล้วค่อยๆปวดตรงสะดือ ทั้งยังมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องน้อยด้านขวาเวลาถูกกดหรือถูกกระเทือนด้วย บางคนก็จะมีไข้ต่ำๆและหนาวสั่นร่วมด้วย หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์เลยค่ะ หากชักช้าจะทำให้ไส้ติ่งแตกได้และเชื้อโรคจะกระจายเข้าสู่ช่องท้อง ติดเชื้อในกระแสเลือดและรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
เป็นปกติที่ผู้หญิงจะปวดท้องตอนเป็นประจำเดือนแต่หากมันปวดมากขึ้นเรื่อยๆเหมือนมีเข็มมาทิ่มแทง จนลุกไปไหนไม่ได้ ส่งผลต่อการใช้ชีวิต และยังปวดร้าวไปจนถึงเอว หลัง ก้นกบ หน้าขา ท้องอืด ท้องบวม ท้องเสียหรือปัสสาวะบ่อย อาจจะเพราะกำลังเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แล้วล่ะ ถ้ามีอาการเหล่านี้ก็ให้ไปตรวจภายในและรีบรักษาเพราะจะมีผลกระทบไปยังอวัยวะอื่นๆได้และยังทำให้มีลูกยากอีกด้วยค่ะ
ภาพจาก 52mabao.com
อาการหงุดหงิดขั้นรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome: PMS)
หากรู้สึกปวดท้องน้อยในช่วง 7 – 10 วันก่อนประจำเดือนมาและมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย เห็นอะไรก็ขัดใจไปหมด แสดงว่าประจำเดือนคุณใกล้มานั่นเอง เมื่อประจำเดือนมา อาการเหล่านี้ก็จะหายไปเองค่ะ แต่หากมีอาการโมโหร้าย ร้องไห้บ่อย เครียด อารมณ์ขึ้นๆลงๆ บางครั้งก็ซึมเศร้า ร่วมกับอาการคัดเต้านมมากๆ ปวดหัวอย่างรุนแรงเหมือนจะระเบิด ขาดสมาธิ ก็ให้ไปพบแพทย์ดีกว่า เพราะมันเป็นอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder: PMDD) ต้องได้รับการรักษา เพื่อจะได้ไม่กระทบกับครอบครัว คนรอบข้างและตัวเองค่ะ
ไส้เลื่อน (Hernia)
บางคนอาจคิดว่าโรคนี้เป็นแค่ในผู้ชายเท่านั้น แต่จริงๆแล้วผู้หญิงก็เป็นไส้เลื่อนได้ ไส้เลื่อนเป็นอาการที่ลำไส้เคลื่อนที่ผิดตำแหน่งไปอยู่อีกที่หนึ่ง หากเป็นไส้เลื่อนจะรู้สึกปวดถ่วงๆเวลายืนหรือเดิน เจ็บเวลาไอ ก้มหรือยกของ บางคนก็อาจแน่นท้อง หรือมีอาการปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วย ถ้ามีอาการเหล่านี้ก็ให้ไปพบแพทย์ดีกว่า หากไม่ถึงขั้นอันตรายมากนัก แพทย์จะให้ยาประคับประคองอาการไปก่อนระหว่างรอการผ่าตัด แต่หากใครอาการหนัก แพทย์จะทำการผ่าตัดด่วนให้เลย
โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome: IBS)
คนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง บริเวณท้องน้อยด้านซ้ายหรือขวาร่วมกับอาการท้องผูกหรือท้องเสีย เวลาท้องเสียมักจะเป็นช่วงเช้าหรือหลังทานอาหาร แต่หากท้องผูกก็จะเป็นเพียงวันเดียวหรือนานเป็นเดือน บางครั้งก็อยากเรอ อาเจียน โรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยตรงแต่จะใช้วิธีรักษาตามอาการเอา เช่น ให้ยาระบาย ยาลดอาการปวดเกร็ง ยาคลายกังวล ยาแก้ท้องเสีย ปัจจัยเสี่ยงที่จะไปกระตุ้นให้ลำไส้ทำงานผิดปกติคือ การทานอาหารรสจัด อาหารมันๆ ชา กาแฟ รวมถึงคนที่เครียดบ่อยด้วย
พังผืดในช่องท้อง (Abdominal adhesions)
โรคนี้มักจะเกิดกับคนที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาแล้วเป็นส่วนใหญ่ เพราะตอนผ่าตัดมีการเคลื่อนย้ายอวัยวะไปจากตำแหน่งปกติ คนที่ไม่เคยผ่าตัดช่องท้องก็อาจเป็นโรคนี้ได้บ้าง แต่ไม่มากเท่าคนเคยผ่าตัดมาก่อน โรคนี้มักไม่แสดงอาการเว้นเสียแต่ว่าพังผืดไปดึงรั้งลำไส้เล็กหรือลำไส้ จนทำให้เกิดอาการปวด ท้องอืด ไม่ถ่ายอุจจาระ ไม่ผายลม หากอาการไม่รุนแรงก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่หากปวดอย่างรุนแรงหรือพังผืดไปอุดตันลำไส้ แพทย์ก็จะทำการผ่าตัดให้ค่ะ
ภาพจาก Pobpad
เนื้องอกมดลูก (Uterine fibroids)
หากปวดประจำเดือนขึ้นทุกเดือน และมีเลือดออกมากระหว่างรอบเดือน ปัสสาวะบ่อยแต่ไม่มาก ท้องผูกบ่อยๆ คุณก็อาจกำลังเป็นเนื้องอกมดลูกอยู่ก็ได้ แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะโอกาสที่เนื้องอกในมดลูกจะเปลี่ยนเป็นเนื้อร้ายมีแค่ 1% เท่านั้น ทางที่ดีก็ให้ไปพบแพทย์เพื่อความสบายใจจะดีกว่าค่ะ
มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer)
เราสามารถสังเกตความผิดปกติของการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยการสังเกตการขับถ่าย หากท้องผูกหรือท้องเสียติดต่อกันแบบไม่มีสาเหตุนานเกิน 6 สัปดาห์ ถ่ายออกมาเป็นเลือด อุจจาระมีขนาดเล็กลง ปวดอุจจาระบ่อยๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนและน้ำหนักลดลงโดยไม่ได้ควบคุมน้ำหนัก ให้รีบไปพบแพทย์เลยค่ะ เพราะเป็นไปได้ว่าคุณกำลังเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อยู่ การรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรค หากอยู่ในระยะที่ 1 – 3 แพทย์จะผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกและอาจให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย แต่หากเป็นระยะที่ 4 แพทย์จะให้เคมีบำบัดเพื่อบรรเทาอาการให้ได้มีชีวิตอยู่ได้นานค่ะ
มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer)
โรคนี้มักไม่แสดงอาการ แต่กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งรังไข่ก็ตอนระยะสุดท้ายแล้ว มีโอกาสเสียชีวิตสูงแต่อย่ากังวลไปค่ะ หมั่นสังเกตตัวเองดีกว่าว่ามีอาการเหล่านี้มั๊ย ท้องอืดเป็นประจำ แน่นท้อง ปวดท้องในอุ้งเชิงกราน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หากอาการอยู่ในระยะท้ายๆ ก็จะมีน้ำในช่องท้อง ทำให้ท้องโตกว่าเดิมเหมือนคนอ้วน อย่างที่บอกว่าโรคนี้มักไม่แสดงอาการ ฉะนั้นคุณผู้หญิงควรเข้ารับการตรวจภายในเป็นประจำทุกปีจะดีกว่า เผื่อว่ามีก้อนในช่องท้อง จะได้รักษาทันค่ะ
ทางที่ดีเมื่อรู้ตัวว่าปวดท้องน้อยแบบผิดปกติ ก็ให้ไปพบแพทย์จะดีกว่า เพื่อจะได้ตรวจหาสาเหตุและรักษาทัน ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีด้วย อย่าให้สุขภาพแย่เพราะความละเลย คิดว่าไม่เป็นอะไรมากเลยค่ะ
ที่มา: https://www.honestdocs.co/abdominal-pains
https://www.vibhavadi.com/health118