ฝุ่น PM

ฝุ่น PM 2.5 ภัยร้ายที่ต้องระวัง

ตอนนี้อากาศบ้านเราไม่บริสุทธิ์อีกต่อไปแล้ว เพราะ เจ้าฝุ่น PM 2.5 ได้ปกคลุมทั่วทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จนกลายเป็นหนึ่งในภัยร้ายที่ทุกคนต้องระวัง ตอนเช้าๆหลายคนอาจตื่นเต้นที่เห็นกรุงเทพมีหมอก แต่จริงๆแล้วมันคือฝุ่นละออง PM 2.5 ต่างหาก โดยปกติจมูกของคนเราจะมีขนจมูกที่ช่วยกรองฝุ่นละอองต่างๆ ก่อนเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ จึงทำให้ร่างกายไม่ได้รับผลกระทบกับฝุ่นและมลภาวะมากนัก แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหามลภาวะทางอากาศที่รุนแรง โดยเฉพาะเจ้าฝุ่นละออง PM 2.5 ทำให้จมูกไม่สามารถกรองฝุ่นตัวนี้เข้าสู่ร่างกายได้ จึงเป็นอันตรายและเกิดผลเสียต่อร่างกายเป็นอย่างมาก

PM 2.5 คือ 

PM 2.5 หรือ Particulate Matter คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หากเปรียบเทียบกับเส้นผมมนุษย์ที่มีขนาด 50 – 70 ไมครอน ฝุ่นที่ว่านี้มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมถึง 20 – 30 เท่า ฝุ่นนี้จะแขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่างๆ ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่หากมาอยู่รวมกันเยอะๆจะมองเห็นเป็นหมอกควันอย่างที่เราเห็นกันทุกเช้านั่นเอง

หากเราสูดดมฝุ่น PM 2.5 เข้าไป มันจะเล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ปอด และหลอดเลือดได้ง่าย จนส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว ทั้งยังเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งอื่นๆ

ที่มาของฝุ่น PM 2.5 

PM 2.5 ส่วนใหญ่มาจาก โรงผลิตไฟฟ้า, ควันท่อไอเสียจากรถยนต์, การเผาไม้ทำลายป่า, การเผาขยะ, การเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์, ฝุ่นจากการก่อสร้าง

ส่วนสาเหตุที่ฝุ่น PM 2.5 รวมกันอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเยอะก็เพราะกรุงเทพเป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยตึกสูง มีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่น PM 2.5 ได้ง่าย ปกติแล้วฝุ่นเหล่านี้จะลอยขึ้นไปรวมตัวกันในอากาศเป็นจำนวนมากในช่วงเวลากลางคืน ก่อนที่จะถูกลมพัดฟุ้งกระจายหายไปในตอนเช้า แต่หากวันไหนไม่มีลมพัด ก็จะทำให้ฝุ่น PM 2.5 ไม่ฟุ้งกระจาย จึงเกิดการสะสมของฝุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนระดับความเข้มของฝุ่นในพื้นที่นั้นๆเข้าสู่ระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ผลกระทบฝุ่น PM

ภาพจาก https://www.cigna.co.th/

PM 2.5 มีผลกระทบต่อสิ่งเหล่านี้ 

ผลกระทบทางสุขภาพ

เนื่องจากเจ้าฝุ่นละออง PM 2.5 มีขนาดที่เล็กมากๆ แถมยังไม่มีกลิ่นด้วย จึงสามารถผ่านเข้าไปในร่างกายได้ถึงถุงลมปอด บางส่วนก็สามารถเล็ดรอดผ่านผนังถุงลมปอดเข้าไปในเส้นเลือดฝอยล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายได้

ฝุ่น PM 2.5 ที่เข้าไปสู่ร่างกายจะไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดสารอนุมูลอิสระ ลดระบบแอนตี้ออกซิแดนท์ รบกวนสมดุลต่างๆของร่างกาย และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อในร่างกาย และส่งผลกระทบต่างๆตามมา เช่น กระตุ้นให้คนที่มีโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ, กระตุ้นให้คนที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ โดยเฉพาะคนเป็นโรคหัวใจกล้ามเนื้อขาดเลือด, ทำให้การทำงานของปอดถดถอย อาจเกิดโรคถุงลมโป่งพองได้ ถึงแม้ว่าคุณจะเป็นคนไม่สูบบุหรี่ก็ตาม และมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดด้วย

ผลกระทบทางผิวหนัง

  1. มีผื่นคันตามตัว
  2. ปวดแสบปวดร้อน มีอาการระคายเคือง
  3. เป็นลมพิษ
  4. ทำร้ายเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวอ่อนแอ เหี่ยวย่นง่าย

การป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM 2.5

  1. ออกกำลังกายในที่ร่ม หรือที่ที่มีฝุ่นน้อย และไม่ควรใส่หน้ากากอนามัยขณะออกกำลังกาย
  2. ทานอาหารที่มีส่วนช่วยในการป้องกันอันตรายที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 อย่างวิตามินซี และกรดไขมันโอเมก้า 3
  3. ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องออกนอกบ้านหรืออาคาร โดยให้ใส่หน้ากากอนามัยชนิดที่เรียกว่า N95 โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจเรื้อรัง เพราะมันช่วยป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ดีถึง 90 – 95%
  4. ใช้เครื่องฟอกอากาศ เพราะภายในบ้านหรืออาคารอาจไม่ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 มากนัก เนื่องจากมีการเปิด – ปิดประตู หน้าต่างๆบ่อยๆ ฉะนั้นเครื่องฟอกอากาศจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้หายใจได้อย่างสบายใจ

ไม่ได้มีเพียงแต่ประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่ประสบปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ประเทศอื่นๆก็มีปัญหาแบบนี้เหมือนกัน ซึ่งประเทศที่ประสบปัญหาต่างก็ออกนโยบายและกฎต่างๆมาเพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 อย่างรัฐแคลิฟอร์เนียก็ตั้งเป้าเปลี่ยนรถเมล์ทั้งหมดให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้าที่ปล่อยมลพิษ 0% โดยจะทำให้สำเร็จภายในปี 2040 ส่วนประเทศจีนก็หันมาเข้มงวดการคมนาคม โดยมีแนวคิดแบ่งวันวิ่งรถเลขคู่ซึ่งดูจากเลขท้ายป้ายทะเบียน ไม่เพียงเท่านี้ ทางรัฐบาลจีนยังเปลี่ยนรถโดยสารเป็นรถไฟฟ้าคล้ายกับที่แคลิฟอร์เนีย โดยจะตั้งเป้าเปลี่ยนให้ถึง 10,000 คัน ภายในปี 2020 นี้อีกด้วย

ส่วนการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ของไทยเรานั้น ตอนนี้มีนโยบายนำรถเมล์ไฟฟ้ามาใช้แล้ว เหลือเพียงแต่จัดซื้อเท่านั้น ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยมีความคิดที่จะออกนโยบายห้ามรถที่เก่าเกิน 7 ปีขับบนถนน แต่ก็ถูกต่อต้านจากประชาชนไป เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีกำลังซื้อรถใหม่ จริงๆแล้วรถยิ่งเก่ามากเท่าไหร่ มลพิษร้ายรวมถึง PM 2.5 ก็ถูกปล่อยมากขึ้นเท่านั้น แต่หากจะออกนโยบายห้ามรถเก่าเกิน 7 ปีวิ่งบนถนนก็ไม่ถูกใจคนส่วนใหญ่ ก็ต้องมาคอยติดตามต่อไปว่าประเทศไทยเราจะมีมาตรการหรือแนวคิดอื่นๆในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 อย่างไร