ช่วงหน้าฝนแบบนี้ โรคฮิตที่หลายๆคนเป็นกันก็คงหนีไม่พ้นโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะเด็กในช่วงอายุ 2 – 8 ขวบจะเป็นกันมาก ผู้ใหญ่อย่างเราก็มีสิทธิ์เป็นเหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่ต้องอยู่ในแหล่งที่ชุกชุมไปด้วยยุงลาย เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองและคนที่เรารักจากโรคไข้เลือดออก เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้ลึกซึ้งกันดีกว่าค่ะ จะได้รู้วิธีห่างไกลจากโรคนี้กัน
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ติดต่อจากเชื้อไวรัสเดงกี่ที่แพร่สู่ร่างกายคนโดยการกัดของยุงลายตัวเมีย ผู้ที่เป็นไข้เลือดออกมักจะมีไข้สูงกว่าการเป็นไข้หวัดธรรมดา เนื่องจากยุงเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่ในอากาศร้อนชื้น จึงพบได้มากในประเทศเขตร้อนในทวีปเอเชีย แอฟริกา อเมริกากลาง อเมริกาใต้ ตอนเหนือของออสเตรเลีย และตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก จากการแพร่ระบาดในวงกว้าง และแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว องค์การอนามัยโลกหรือ WHO จึงประกาศให้โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ควรเฝ้าระวัง
อาการของโรคไข้เลือดออก
อาการเบื้องต้นจะคล้ายกับการเป็นไข้หวัดธรรมดาทั่วไป แต่ผู้ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกจะมีอาการที่รุนแรงกว่า ไข้สูงกว่า ปวดหัวมาก ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้อาเจียน บางรายก็มีผื่นแดงหรือจ้ำเลือดใต้ผิวหนังทั่วตัว หากทำการรักษาช้าผู้ป่วยจะเสียชีวิต ซึ่งระยะการฟักตัวของไข้เลือดออกจะอยู่ในช่วง 3 – 5 วัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง
ระยะนี้ผู้ป่วยจะมีไข้สูง กินยาลดไข้ก็ไม่บรรเทา ทั้งยังมีอาการปวดศีรษะ เบื่ออาหาร หน้าแดงร่วมด้วย บางรายก็มีการอาเจียน ท้องผูก เจ็บคอ ไอเล็กน้อย แต่ในระยะ 3 วันนี้จะยังไม่ปรากฏตุ่มให้เห็น
ระยะที่ 2 ระยะช็อกและมีเลือดออก
จะพบในช่วงเวลา 3 – 7 วันของการป่วย มักจะเกิดกับผู้ป่วยจากเชื้อเดงกีที่มีความรุนแรงขั้นที่ 3 และ 4 ระยะนี้ถือเป็นระยะวิกฤตของโรคเลยก็ว่าได้ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ลดลง แต่จะอาเจียน ปวดท้องบ่อยขึ้น ทั้งยังกระสับกระส่าย ตัวเย็น มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ความดันต่ำ และหากไม่ได้รับการรักษาภายใน 1 – 2 วัน จะอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีเลือดออกตามผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจต้องเสียชีวิตภายใน 24 – 27 ชั่วโมงกันเลย แต่หากผ่านพ้นภาวะตรงนี้มาได้ ต่อไปก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ก็คือระยะฟื้นตัว
ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว
ในผู้ป่วยที่มีอาการช็อก, ช็อกไม่รุนแรง หรือได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยจะฟื้นตัวอยู่ในสภาพปกติ เริ่มร่าเริงขึ้น ทานอาหารได้มากขึ้น และจะดีขึ้นตามลำดับภายในช่วงระยะเวลา 7 – 10 วันหลังจากผ่านระยะที่ 2 ของโรค
การวินิจฉัยไข้เลือดออก
เราสามารถสังเกตว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ ด้วยวิธีง่ายๆคือใช้หนังยางรัดเหนือข้อศอกให้แน่นเล็กน้อย ให้พอคลำชีพจรที่ข้อมือได้ ทิ้งไว้เป็นเวลา 5 นาที แล้วลองเอาเหรียญบาทกดทับที่ท้องแขน หากมีจุดแดงเกิดขึ้นตรงบริเวณที่กดทับเป็นจำนวนมากกว่า 10 จุด ก็ถือว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้เลือดออก และยิ่งมีไข้มาแล้ว 2 วัน ความเสี่ยงที่เป็นไข้เลือดออกก็มีมากขึ้น
วิธีการรักษา
โรคไข้เลือดออกไม่มีการรักษาเฉพาะ จะเป็นเพียงการเฝ้าระวังภาวะช็อกเท่านั้น โดยทั่วไปการดูแลผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกมีดังนี้
- ให้ยาลดไข้อย่างพาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาแอสไพรินเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกร็ดเลือดผิดปกติและระคายกระเพาะอาหารได้
- ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมักมีภาวะขาดน้ำ ฉะนั้นควรจะให้ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อยๆ
- ให้ตรวจนับจำนวนเกร็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะ เพื่อใช้พิจารณาปริมาณการให้สารน้ำชดเชย
- ติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการปวดท้อง กระสับกระส่าย ตัวเย็น มือเท้าเย็น โดยเฉพาะในช่วงไข้ลด ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
การป้องกัน
ปัจจุบันนี้ยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคไข้เลือดออก แต่เราก็สามารถป้องกันได้โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดไป ยุงลายจะชอบเพาะพันธุ์ในน้ำใส ฉะนั้นก็ให้กำจัดน้ำขัง ภาชนะที่ใช้เก็บน้ำก็ปิดฝาให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกๆ 7 วัน เลี้ยงปลาที่ชอบกินลูกน้ำอย่างปลาหางนกยูงในภาชนะที่มีน้ำขังขนาดใหญ่ ทั้งนี้ยุงก็มักจะชอบกัดคนในเวลากลางวัน เราก็ป้องกันโดยการสวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และพยายามไม่อยู่ในบริเวณมุมอับชื้น เป็นต้น
คนที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วก็มีสิทธิ์ที่จะกลับมาเป็นโรคไข้เลือดออกใหม่ได้อีก และการเป็นครั้งที่สองจะมีอาการรุนแรงกว่าครั้งแรก แต่ส่วนใหญ่จะไม่เป็นเกิน 2 ครั้ง ฉะนั้นการดูแลตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ควรจะทำค่ะ