เมื่อคุณแม่มีลูกสองคนขึ้นไป คงจะพบปัญหาที่น่าปวดหมองอย่างปัญหาพี่อิจฉาน้อง แต่จะบอกว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากและเป็นกันแทบทุกบ้านเลย โดยเฉพาะช่วงแรกๆที่มีน้องน้อยเกิดใหม่ คุณแม่ก็จะไปเทคแคร์ดูแลน้องคนเล็กมากกว่าคนพี่ จนเป็นสาเหตุทำให้คนพี่รู้สึกเหมือนโดนแย่งความรักไป จึงทำให้พี่มีความรู้สึกอิจฉาน้องขึ้นมา
ความอิจฉาเป็นอารมณ์หนึ่งของมนุษย์ ทุกคนมีรัก โลภ โกรธ หลง เด็กก็เช่นกัน คนเป็นพ่อแม่จึงต้องพูดคุยกับลูกคนโตให้เข้าใจ และไม่ลำเอียงความรักให้กับลูกคนเล็กจนเกินไป และหากบ้านไหนมีปัญหานี้อยู่ เราก็มีข้อควรปฏิบัติสำหรับแก้ไขปัญหานี้ 8 ข้อ มาฝากแม่ๆกันค่ะ
สาเหตุที่ทำให้พี่อิจฉาน้อง
เด็กๆมักจะมองตัวเองว่าเป็นศูนย์กลางของทุกคนในบ้าน จากเดิมที่ใครๆต่างก็รุมสนใจ ให้ความรัก ความอบอุ่น แล้ววันหนึ่งโดนแบ่งความรักและความสนใจไป ก็ต้องมีอารมณ์โกรธจนพาลอิจฉาน้องคนเล็กที่เพิ่งเกิดใหม่มาเป็นธรรมดา ยิ่งเห็นพ่อแม่ป้อนนมน้อง อุ้มน้อง อาบน้ำ แต่งตัวให้อย่างทะนุถนอม เลยทำให้พี่คนโตอยากเรียกร้องความสนใจให้พ่อแม่ทำแบบนั้นกับตัวเองบ้าง จากเดิมที่เคยทำอะไรด้วยตัวเองได้หมด กลับกลายเป็นทำไม่ได้ ทำไม่เป็น เช่น ปกติเคยทานข้าวเองได้ ก็งอแงอยากให้พ่อแม่ป้อนข้าว, เคยปัสสาวะ อุจจาระได้เอง ก็กลับทำไม่ได้ ปล่อยให้ฉี่ อึราดซะงั้น เป็นต้น
นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้พี่อิจฉาน้องก็มาจากตัวคุณแม่นี่แหละ ที่อาจจะอ่อนเพลียจากการเลี้ยงลูกคนเล็ก ลูกร้องไห้งอแงกลางดึก ก็ต้องตื่นมาให้นมลูก ทำให้คุณแม่รู้สึกหงุดหงิด ไม่มีอารมณ์มาเล่นกับลูกคนโต จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างลูกคนโตกับคุณแม่ถดถอยไปหรือแย่กว่าเดิม ลูกคนโตจึงรู้สึกไม่ดีกับน้องคนเล็ก จนกลายเป็นเกลียดน้องได้ค่ะ
ข้อควรปฏิบัติสำหรับแก้ไขปัญหาพี่อิจฉาน้อง
- คุณแม่ควรเตรียมการป้องกันปัญหานี้ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆเลยนะคะ โดยการพูดกับลูกคนโตให้เข้าใจ ว่าเรากำลังมีสมาชิกอีกคนกำลังเติบโตอยู่ในท้องแม่ และให้ลูกคนโตมีส่วนร่วมกับน้องด้วย โดยการให้ลูกอ่านหนังสือให้น้องฟัง ให้ลูกสัมผัสน้องที่กำลังดิ้นอยู่ในท้องคุณแม่ หรือให้ลูกกอดน้องที่อยู่ในท้องก็ได้ นอกจากนี้ ก็ให้พูดคุยถึงข้อดีของการมีน้องด้วย เช่น ลูกจะได้มีเพื่อนเล่น ได้ช่วยเหลือกันตอนโต เป็นต้น
- อธิบายให้ลูกคนโตฟังว่า การที่เราอาบน้ำ ป้อนข้าว ทะนุถนอมน้องนั้น ก็เพราะว่าน้องยังเล็ก ช่วยเหลือตัวเองยังไม่ได้ พร้อมกับเปิดรูปภาพขณะที่ลูกคนโตยังเด็กให้ลูกดูด้วยก็ได้ แล้วค่อยๆอธิบายว่าตอนลูกยังเล็ก พ่อกับแม่ก็ปฏิบัติกับลูกเหมือนที่ทำกับน้องเช่นกัน พี่คนโตก็จะได้เข้าใจอะไรได้ดีขึ้น แล้วไม่มีปัญหาพี่อิจฉาน้องอีกค่ะ
- หลีกเลี่ยงคำพูดที่กระทบกระเทือนจิตใจของลูก อย่างการพูดว่าตอนนี้แม่มีน้อง ลูกคนโตก็จะกลายเป็นหมาหัวเน่า ไม่มีใครรัก เป็นต้น คำพูดพวกนี้จะทำให้ลูกหมดความมั่นใจในความรักที่พ่อแม่มีให้ หากญาติพี่น้องมาเยี่ยม ซื้อของมาให้คนเล็ก ก็อาจบอกเค้าให้ซื้อของมาฝากลูกคนโตด้วยก็ได้
- ให้พี่ได้ช่วยเหลือน้องบ้างแบบง่ายๆ เช่น ช่วยทาแป้งให้น้องเมื่ออาบน้ำให้น้องเสร็จ, ช่วยเปลี่ยนเสื้อผ้า, ถือขวดนม เป็นต้น โดยขอให้ทำแต่อย่าบังคับให้ทำ หากพี่บอกว่าไม่เอา ก็ให้คุณแม่พูดอีกครั้งว่าแม่ต้องการให้ลูกช่วย เพราะหนูเป็นผู้ช่วยที่ดี หากลูกยังพูดว่าไม่อีก ก็อย่าบังคับ หรือว่ากล่าว ทำโทษ เพราะจะทำให้พี่อิจฉาน้องมากขึ้น แต่หากพี่มีความกระตือรืนร้น ยินดีช่วย ก็ให้คุณแม่รีบชมลูกและอาจมีรางวัลให้ พี่คนโตจะได้รู้สึกดีกับน้องมากขึ้นค่ะ
ภาพจาก www.sanook.com
- เพิ่มเวลาให้กับพี่คนโตมากขึ้น โดยผลัดกันระหว่างพ่อกับแม่ ระหว่างที่คุณพ่อเลี้ยงน้องคนเล็ก คุณแม่ก็มาให้ความสนใจกับพี่คนโต มาเล่น ทำกิจกรรมด้วยกัน อย่างการระบายสี วาดรูป เล่านิทาน โดยไม่มีน้องคนเล็กเข้ามาข้องเกี่ยว อยู่ด้วยกันแบบสองต่อสอง พี่คนโตจะได้รู้สึกอบอุ่นและไม่รู้สึกว่าถูกแย่งเวลาและความรักไป ที่สำคัญทำให้ปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้นด้วยค่ะ
- หากน้องเริ่มโตทันพี่ พอจะเล่นด้วยกันได้ คุณแม่ก็ลองให้พวกเค้าเล่นด้วยกันดู อาจจะเป็นการเล่น “จ๊ะเอ๋” ที่ทั้งคู่จะรู้สึกสนุกและมีเสียงหัวเราะร่วมกัน ทั้งยังเป็นการช่วยปฏิสัมพันธ์ให้กับน้องคนเล็กอีกด้วยค่ะ
- แสดงความรักผ่านการสัมผัสพี่กับน้องไปพร้อมๆกัน อาจจะเป็นการกอดกัน 4 คน พ่อ แม่ ลูก เป็นวงกลม ลูกคนโตจะได้ไม่รู้สึกว่าน้องไม่ได้แย่งเวลาทั้งหมดไป แต่ยังมีเวลาให้กับตัวเองด้วย
- หากเกิดปัญหาพี่อิจฉาน้องไปแล้ว คุณแม่ก็ควรไปพูดคุยกับลูกคนโต ให้เขาพูดระบายความรู้สึกออกมา แล้วแสดงความเห็นใจ ทำความเข้าใจกับความรู้สึกของลูก พร้อมกับประคับประคองจิตใจเค้าไปด้วย ก็จะทำให้ปัญหาพี่อิจฉาน้องลดลงได้