ปัญหาใหญ่ที่คุณแม่ทุกคนต้องเจอคือลูกไม่ยอมกินข้าว หรือกินข้าวน้อย ใช่มั๊ยคะ? ซึ่งปัญหานี้เนี่ยทำเอาคุณแม่อย่างเรากลุ้มใจกันเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าจะสรรหาเมนูอาหารหลากหลาย หน้าตาน่ารักมาให้กิน ลูกก็เอาแต่ปฏิเสธอย่างเดียว ปัญหาลูกไม่กินข้าวจะหมดไป เมื่อคุณแม่ได้อ่านบทความนี้ เราจะพาไปดูสาเหตุที่ทำให้เจ้าตัวน้อยไม่ยอมกินข้าว พร้อมกับวิธีการแก้ไขปัญหา รับรองว่าวิธีเหล่านี้ได้ผลแน่นอนค่ะ
1 เบื่อเมนูเดิมๆ
เราเป็นผู้ใหญ่ยังรู้สึกเบื่อเลย เวลากินเมนูเดิมๆทุกวัน เด็กก็เช่นกัน เพราะอาหารเด็กส่วนมาก โดยเฉพาะเด็กวัยหัดกิน จะมีแต่อาหารที่รสชาติจืดๆ เละๆ ถึงลูกจะรู้สึกหิวมากแค่ไหน เขาก็จะปฏิเสธอาหารเหล่านี้ เพราะเขารู้สึกเบื่อ ไม่อยากกินนั่นเอง
วิธีแก้ปัญหา
ลองทำเมนูอาหารหน้าตาน่ารักๆให้ลูกกินดู อาจจะทำเป็นหน้าตัวการ์ตูนที่ลูกชื่นชอบก็ได้ วิธีนี้จะทำให้ลูกรู้สึกตื่นเต้นและอยากกินข้าวมากขึ้น หากคุณแม่ไม่รู้จะเริ่มต้นทำยังไง ก็ดูไอเดียการทำอาหารเด็กได้ตามเว็บไซต์หรือยูทูปได้เลย แต่หากเป็นเด็กเล็ก คุณแม่ก็ลองเปลี่ยนรสชาติอาหารให้แตกต่างกันไปในแต่ละมื้อ แรกๆก็ลองซื้ออาหารให้หลากหลายรสชาติหน่อย จะได้รู้ว่าลูกชอบรสชาติแบบไหน เมื่อลูกกินจนเบื่อก็เอารสชาติใหม่มาป้อนแทน หากเบื่ออีกก็สลับรสชาติกันไปแบบนี้เรื่อยๆ จะทำให้ลูกไม่รู้สึกจำเจค่ะ
2 รู้สึกโดนบังคับ
ภาพจาก https://www.maerakluke.com
อารมณ์ของเด็กเล็กค่อนข้างจะอ่อนไหวและไวต่อความรู้สึก เมื่อถึงเวลากินข้าว แล้วคุณแม่ทำหน้าเคร่งเครียดใส่ เด็กก็จะรู้สึกเหมือนโดนบังคับ กดดัน แล้วเด็กจะเกิดการต่อต้านโดยอัตโนมัติ ไม่ยอมกินข้าว ร้องไห้งอแง หากคุณแม่ยิ่งบ่น หรือสั่งให้กิน เด็กก็จะงอแงยิ่งขึ้น จนถึงขั้นปัดจานข้าวตกก็มี
วิธีแก้ปัญหา
เราต้องทำให้ลูกรู้สึกว่าการกินข้าวเป็นเรื่องน่าสนุก โดยสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลาย สบายๆ อบอุ่น สำหรับเด็กเล็กที่ยังกินข้าวเองไม่ได้ คุณแม่ก็ต้องป้อนข้าวลูก แล้วสมมติว่าช้อนส้อมเป็นเครื่องบิน รถไฟ กำลังเดินทางเข้าปากลูก พร้อมกับทำเสียงประกอบ ไม่งั้นก็ทำเป็นกินข้าวของลูก แล้วแสดงออกมาว่ามันอร่อย ทำตาโต ร้องโอ้โห ว้าว แอ็คติ้งเข้าไว้ ลูกจะรู้สึกสนุกและอยากกินข้าวตามด้วยเช่นกัน ส่วนเด็กโต เราต้องทำเป็นตัวอย่างให้เห็น โดยการที่คุณแม่ก็กินข้าวของตัวเองไป เป็นการบอกลูกอ้อมๆว่าเวลานี้เราควรกินข้าว แล้วลูกก็จะเริ่มกินข้าวตามค่ะ
3 ถูกดึงความสนใจ
การวางโทรศัพท์มือถือ, โทรทัศน์, ของเล่นใกล้ๆลูก จะทำให้ลูกถูกดึงความสนใจไปจากมื้ออาหาร ถึงแม้ข้อดีของมันจะทำให้ลูกผ่อนคลาย ไม่งอแง แต่ข้อเสียก็มีเยอะกว่า เพราะลูกจะไปใจจดใจจ่อกับสิ่งของเหล่านั้น แทนที่จะจดจ่อกับการกินข้าว ซ้ำยังทำให้ไม่สนใจแม่ที่กำลังป้อนข้าวด้วย
วิธีแก้ปัญหา
หากคุณแม่อยากสร้างบรรยากาศในการกินข้าวให้ลูก ก็ให้เปิดเพลงคลอเบาๆแทน คุณแม่อาจจะร้องเพลง เต้นประกอบสักเล็กน้อย พร้อมกับทำท่าทางกินข้าว โบกชามข้าวไปมาให้ลูกสนใจ แล้วลูกจะสนใจกินข้าวเอง แต่หากมีลูกมากกว่าหนึ่งคน ก็ให้ลูกนั่งแยกกันหรือคุณแม่จะนั่งคั่นกลางลูกก็ได้ ลูกๆจะได้ไม่ชวนกันเล่นจนลืมกินข้าวค่ะ
4 ไม่สบาย เหนื่อยหล้า
ภาพจาก https://www.enfababy.com
ลูกไม่กินข้าวสาเหตุอาจมาจากที่ลูกไม่สบาย หรือรู้สึกเหนื่อยหล้าจากกิจกรรมมาทั้งวันก็เป็นได้ ซึ่งคุณแม่อาจสังเกตได้จากพฤติกรรมการกินของลูกที่เปลี่ยนไป เช่น ไม่ยอมกินเมนูที่ตัวเองชอบ, กินแล้วคายทิ้ง ไม่กลืน, ตัวร้อน, ดูพะอืดพะอม หากลูกมีอาการเหล่านี้ คุณแม่ควรพาลูกไปหาหมอหรือให้ลูกพักผ่อนแทนค่ะ ไม่ควรบังคับลูกให้กินข้าวเด็ดขาด
วิธีแก้ปัญหา
หากมั่นใจว่าลูกไม่กินข้าวเพราะไม่สบายจริงๆ ก็อย่าให้ลูกกินของที่เคี้ยวยากหรือย่อยยากเด็ดขาด ควรจะให้กินของเหลวอย่างน้ำเปล่า, วิตามินซี กินผัก ผลไม้ ธัญพืช รวมถึงผลไม้รสเปรี้ยวต่างๆ เพื่อลดอาการคลื่นไส้ลง เป็นการช่วยดึงความอยากข้าวกลับมาด้วยค่ะ
5 ปริมาณอาหารเยอะเกิน
บางทีเราก็อยากให้ลูกโตไวๆ ร่างกายแข็งแรง จึงให้ลูกกินข้าวเยอะ ซึ่งมันไม่ถูกต้องเลย กระเพาะอาหารของเด็กมันเล็กมาก ไม่สามารถรองรับปริมาณอาหารที่มากได้เท่าผู้ใหญ่ การให้ลูกกินข้าวเยอะๆหรือล้นชาม เป็นสาเหตุให้ลูกไม่กินข้าว เพราะรู้สึกกดดันว่าต้องกินข้าวให้หมดนั่นเอง
วิธีแก้ปัญหา
กะปริมาณอาหารให้พอเหมาะ หรือเสิร์ฟให้ลูกน้อยๆก่อนก็ได้ เมื่อเขาไม่อิ่ม เขาจะร้องขอข้าวเพิ่มเอง แต่การเติมข้าวครั้งที่สองนี้ควรจะลดปริมาณลงจากครั้งแรกหน่อย เพื่อป้องกันการจุกเสียดและท้องอืดค่ะ วิธีนี้ทำให้ลูกได้รับสารอาหารที่เหมาะสมต่อร่างกาย และยังประหยัดค่าอาหาร ไม่ต้องทิ้งของเหลือใช้ให้สิ้นเปลืองด้วยค่ะ
6 ยังเคี้ยวอาหารไม่เป็น
ปกติคุณแม่สามารถสอนลูกเคี้ยวและกลืนอาหารได้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป แต่ก็ยังมีคุณแม่หลายคนที่ยังใช้วิธีแบบผิดๆ อย่างการบดอาหารให้ลูกไม่ละเอียดพอ หมูกับเต้าหู้งี้ ลูกอาจกลืนโดยไม่เคี้ยวก่อน เพราะคิดว่าเป็นอาหารเหลวที่กลืนลงคอได้เลย จึงเกิดการสำลัก ติดคอหรือกลืนอาหารไม่ลง กลายเป็นเรื่องฝังใจ จนไม่ยอมกินข้าว
วิธีแก้ปัญหา
ให้คุณแม่ฝึกลูกเคี้ยวอาหารกันก่อน โดยเริ่มจากอาหารที่ไม่ละเอียดมาก เช่น ข้าวต้มหรือโจ๊ก หรือไม่ก็แบ่งป้อนตามชนิดของอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ก็ป้อนส่วนเนื้อสัตว์ ผักก็ป้อนส่วนผัก ข้าวก็ส่วนข้าว เด็กจะได้แยกออกว่าอาหารในช้อนนั่นอ่อนหรือนิ่ม ควรเคี้ยวหรือไม่เคี้ยว เพราะตามสัญชาตญาณเมื่อเจออาหารนิ่ม เด็กจะกลืนลงคอไปเลย ไม่เคี้ยว แต่หากเราป้อนทุกอย่างพร้อมกัน จะทำให้ลูกลืมเคี้ยวจนเนื้อสัตว์หรือผักติดคอ จะเกิดอันตรายได้ค่ะ
7 ไม่เข้าใจความสำคัญของการกินข้าว
ภาพจาก https://www.rakluke.com
เด็กส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหรอกว่าการกินข้าวคือการเสริมสร้างและซ่อมแซมร่างกายให้แข็งแรง เด็กคิดแค่ว่าหิวก็กินข้าวแค่นั้น หรือเด็กอาจคุ้นเคยกับเมนูเดิมๆ พอเจอเมนูใหม่ๆก็สับสนว่าอาหารที่อยู่ตรงหน้าเป็นของกินหรือของเล่นกันแน่
วิธีแก้ปัญหา
ในกรณีที่เด็กเล็ก คุณแม่อาจใช้วิธีเสิร์ฟอาหารใหม่ในภาชนะเดิมที่เด็กใช้เป็นประจำ หรือผสมผสานระหว่างอาหารเก่าและอาหารใหม่ ส่วนเด็กโต อาจใช้วิธีพาลูกไปเดินจ่ายตลาดด้วยกัน แล้วคุณแม่ก็อธิบายถึงประโยชน์ของวัตถุดิบต่างๆ เพียงแค่นี้ลูกก็จะเห็นความสำคัญของการกินข้าวแล้ว
8 ไม่รู้สึกหิวจริงๆ
ที่ลูกไม่กินข้าวอาจเพราะลูกไม่รู้สึกหิวข้าวจริงๆก็ได้ ซึ่งเกิดมาจากการกินของว่างระหว่างวันเยอะเกินไป หรือมื้ออาหารก่อนหน้านั้นยังย่อยไม่หมด นอกจากนี้การให้ลูกกินขนมเป็นประจำ ก็มีส่วนทำให้ลูกไม่สนใจมื้ออาหารหลักด้วยเช่นกัน
วิธีแก้ปัญหา
กะปริมาณอาหารของลูกให้เหมาะสมในแต่ละมื้อ ทั้งอาหารหลักและอาหารว่าง รวมถึงแบ่งเวลามื้ออาหารให้เหมาะสม อย่าปล่อยให้ลูกรู้สึกหิวหรืออิ่มจนเกินไป
ทั้งนี้ คุณแม่ก็ต้องใจเย็นด้วยนะคะเวลาที่ลูกไม่กินข้าว อย่าบังคับเขาเด็ดขาด ค่อยๆสอนให้เขาเรียนรู้ไป ยังไงเราก็ขอเอาใจช่วยให้ลูกน้อยกินข้าวได้เยอะนะคะ เพราะคุณแม่ต้องรู้สึกสุขใจแน่ เมื่อเห็นลูกกินอิ่มนอนหลับค่ะ