วิธีฝึกลูกดูดขวดนม

วิธีฝึกลูกดูดขวดนมสำหรับคุณแม่มือใหม่

ปัญหาลูกไม่ยอมดูดขวดนมเป็นอีกปัญหาหนึ่งของคุณแม่มือใหม่ที่ต้องเจอ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องกลับไปทำงานหรือไปทำธุระข้างนอก แล้วต้องปล่อยให้คนอื่นทำหน้าที่ป้อนนมให้ลูกแทนตัวเอง ถึงแม้จะปั๊มนมไว้มากขนาดไหน แต่หากลูกไม่ยอมกินนมจากขวด จะกินนมจากเต้าแม่อย่างเดียว คุณแม่เครียดแน่ๆ ฉะนั้นเรามาฝึกลูกดูดขวดนมกันดีกว่าค่ะ

1. แบ่งเวลาให้นมลูก

เด็กเล็กเป็นวัยที่กำลังอยากรู้อยากเห็น ไม่ชอบโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ชอบมองสำรวจสิ่งรอบข้างมากกว่า หากคุณแม่บังคับให้ลูกนั่งอยู่กับที่แล้วกินนมให้หมดขวด ลูกจะงอแงและรู้สึกเบื่อได้ แนะนำให้คุณแม่แบ่งเวลาให้นมลูกเป็นมื้อย่อยๆประมาณ 5 ครั้งต่อวันจะดีกว่า และลดปริมาณนมให้น้อยลงต่อการป้อนหนึ่งครั้งด้วย ลูกจะได้ไม่รู้สึกอิ่มจนเกินไป และจะร้องหาขวดนมบ่อยขึ้นค่ะ

2. หาที่เงียบๆตอนให้นมลูก

เด็กวัยนี้กำลังอยากรู้อยากเห็น การฝึกลูกดูดขวดนมคุณแม่จึงต้องพาลูกไปสถานที่ที่เงียบ คนไม่พลุกพล่าน ไม่มีสิ่งที่จะดึงความสนใจของลูกได้ แล้วลองให้ขวดนมกับลูกดู โดยที่คุณแม่ไม่ต้องพูดอะไร ลูกจะโฟกัสกับการหิวแล้วจะตั้งใจกินนมได้เองค่ะ

3. เปลี่ยนทรงจุกนม

ฝึกลูกดูดนม

ภาพจาก https://hidek.club/

ทรงจุกนมเป็นสิ่งที่คุณแม่ควรใส่ใจให้มากๆ เพราะการที่ลูกไม่ยอมดูดขวดนมอาจมีปัญหาจากจุกนมเองก็ได้ เช่น จุกนมมีเนื้อสัมผัสที่แข็ง หรือรูของช่องดูดเล็กจนน้ำนมไม่ยอมไหลออกมา ดังนั้นคุณแม่จึงต้องเลือกจุกนมที่อ่อนนุ่มและระบายน้ำนมออกได้ดี อาจจะต้องลงทุนเปลี่ยนกันสักหน่อยจนกว่าจะได้ทรงจุกนมที่พอใจลูก แต่เพื่อลูกแล้วก็คุ้มค่ากับการลงทุน ลูกจะได้ดูดนมได้สะดวกขึ้น และผ่อนคลายทุกครั้งเวลาป้อนนมจากขวด

4. ป้อนนมขวดก่อนลูกหิวจัด

คุณแม่หลายคนอาจเข้าใจไปเองว่าการงดให้อาหารลูกเพื่อให้ลูกหิวจัด แล้วจะได้กินนมจากขวดได้นั้น เป็นความคิดที่ผิดมากค่ะ เพราะลูกจะหงุดหงิด โมโห และร้องหาแต่สิ่งที่คุ้นเคย นั่นก็คือการกินนมจากเต้า ฉะนั้นคุณแม่ควรป้อนนมจากขวดให้เร็วขึ้นจากเวลาที่ลูกหิวเป็นประจำ หรือช่วงเวลาก่อนตื่นนอน โดยสังเกตจากริมฝีปากลูก หากลูกเริ่มขยับปากตอนใกล้จะตื่นก็ป้อนนมจากขวดได้เลย

5. เปลี่ยนคนป้อนนม

เนื่องจากเวลาลูกหิวนม แม่ก็มักจะนำลูกเข้าเต้าอยู่เสมอ ลูกจึงคุ้นชินว่าเมื่ออยู่ในมือแม่แล้วจะได้กินนมจากเต้าแม่ พอคุณแม่มาเปลี่ยนเป็นขวดนม ลูกก็เลยปฏิเสธด้วยความไม่คุ้นชิน แนะนำว่าให้ลองเปลี่ยนคนป้อนนมดู อาจจะเป็นคุณพ่อ หรือญาติพี่น้องก็ได้ ลูกจะได้จำความรู้สึกว่าถ้าอยู่กับแม่จะได้กินนมจากเต้า แต่ถ้าอยู่กับคนอื่นจะได้กินนมจากขวด และคนที่รับหน้าที่ป้อนนมจะต้องอุ้มเด็กในท่าที่แตกต่างจากการอุ้มของแม่ด้วย

6. คุณแม่ควรห่างออกจากลูกน้อย

คุณแม่เป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุดตั้งแต่ลูกเกิดมา จึงทำให้ลูกรู้สึกคุ้นเคย อบอุ่น และปลอดภัย ถึงแม้คุณแม่จะไม่ได้เป็นคนป้อนขวดนมให้ลูกเอง แต่ลูกก็จะได้กลิ่น ได้ยินเสียงที่คุ้นเคยจากแม่ที่อยู่ใกล้ๆ จึงทำให้ไม่ยอมกินนมขวดจากที่คนอื่นป้อน เพราะต้องการกินนมจากเต้าเหมือนทุกที ดังนั้นเวลาลูกกินนมอยู่ คุณแม่ควรถอยห่างออกจากลูกน้อย หรือไม่ก็ไปทำอย่างอื่นที่อยากทำแทนค่ะ

7. ฝึกให้ลูกดูดจุกยางตั้งแต่เนิ่นๆ

ฝึกดูดจุกนมแต่แรก

ภาพจาก https://hidek.club/

การฝึกให้ลูกดูดจุกยางตั้งแต่เนิ่นๆ สลับกับป้อนนมจากเต้าวนไปหลายๆครั้งระหว่างให้นม จะทำให้ปากของลูกได้รู้จักสัมผัสใหม่ๆนอกจากเต้าแม่ รวมถึงคุ้นเคยกับการดูดนมจากจุกมากขึ้น พอถึงเวลาป้อนนมจากขวดจริง ลูกจะได้ไม่งอแงค่ะ

8. คุณแม่ต้องใจแข็ง

การฝึกลูกดูดนมจากขวดแทนการดูดจากเต้า ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน คุณแม่จึงต้องใจเย็นและอดทนเป็นอย่างมาก เพราะลูกจะมีอาการงอแงและต่อต้าน ที่สำคัญคุณแม่ต้องใจแข็ง ฝึกให้ลูกดูดนมจากขวด ไม่ยอมใจอ่อนให้ลูกดูดนมจากเต้าทุกมื้อ แต่อาจมีสลับเข้าเต้าเป็นบางมื้อได้ เนื่องจากจะทำให้ลูกกลับไปติดนมจากเต้าได้อีก

9. ใส่อาหารเหลวในถ้วยหัดดื่ม

สำหรับลูกน้อยที่โตพอจะกินอาหารเหลวได้แล้ว ก็ให้คุณแม่ใส่อาหารเหลวลงในถ้วยหัดดื่มให้ลูกดู  เพราะอาหารเหลวที่รสชาติอร่อยและแปลกใหม่ จะทำให้ลูกอยากอาหารและยอมดื่มจากถ้วยหัดดื่ม พอลูกหิวน้ำหรือนมก็ยื่นขวดไปให้ดื่มสลับกันได้เลย ลูกจะได้คุ้นเคยกับการถือขวดไว้ในมือและคุ้นเคยกับการดูดอาหารจากขวดไปในตัวอีกด้วย