คุณแม่มือใหม่คงจะประสบปัญหาที่ลูกดื้อ เอาแต่ใจ ก้าวร้าว ร้องไห้โวยวาย จนรู้สึกเหนื่อยใจกันใช่มั๊ยคะ ซึ่งจะบอกว่าการที่ลูกดื้อเนี่ย มันคือพัฒนาการตามวัยของเด็กอย่างหนึ่งและการที่ลูกดื้อไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายอะไรเลย มันคือบททดสอบที่แสดงถึงการเติบโตทางจิตใจว่าลูกกำลังคิดได้ด้วยตัวเอง เรียนรู้ที่จะใช้เหตุผลและตัดสินใจเลือกเองได้ ในฐานะที่เราเป็นคุณแม่ก็ต้องเข้าใจพัฒนาการตรงนี้ และเตรียมรับมือพร้อมปรับเปลี่ยนนิสัยของลูกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดื้อของลูกก็ไม่ได้ยากอะไร ถ้าเราเข้าใจถึงสาเหตุ ว่าแล้วเราก็ไปดูสาเหตุที่ทำให้ลูกดื้อ เอาแต่ใจ พร้อมกับวิธีรับมือกันเลยดีกว่าค่ะ
สาเหตุที่ทำให้ลูกดื้อ
จริงๆแล้วสาเหตุที่ทำให้ลูกดื้อก็มาจากพ่อแม่นี่แหละ นับตั้งแต่ลูกเกิดมา ก็จะมีการเรียนรู้ เช่น เมื่อลูกรู้สึกหิว แค่ร้องไห้ ก็มีแม่เอานมมาให้กิน ลูกก็จะเรียนรู้ว่าทำแบบนี้แล้วมันได้ผล เมื่อทำซ้ำแล้วไม่ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ ก็จะเพิ่มความรุนแรงของการกระทำขึ้น แล้วพอพ่อแม่เห็นลูกร้องไห้ ก็เข้าไปโอ๋ลูก ลูกก็จะยิ่งจดจำว่าทำสิ่งเหล่านี้แล้วจะมีคนรัก คนเอาใจ ทำให้เมื่อลูกโตก็จะยิ่งเอาแต่ใจมากขึ้น และหากได้ขัดใจ ลูกก็จะร้องไห้และมีพฤติกรรมที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้บางทีที่ลูกดื้อก็เพียงแค่อยากรู้เหตุผลหรือรู้สึกว่าตัวเองถูกบังคับมากเกินไป มักจะเกิดขึ้นกับครอบครัวที่พ่อแม่ใช้คำสั่งเป็นหลัก โดยไม่มีการอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าทำไมถึงไม่ให้ทำ ทำไมถึงกินไม่ได้ เป็นต้น
วิธีการแก้ปัญหาลูกดื้อ
1) คุณแม่ต้องทำความเข้าใจกับธรรมชาติตามช่วงวัยของลูก โดยเฉพาะช่วง 6 ขวบแรก หากคุณแม่สอนและฝึกไม่ตามใจลูกทุกครั้งที่ร้องไห้ ก็จะทำให้ลูกโตมาโดยไม่ติดนิสัยเอาแต่ใจเหล่านี้
2) ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง เช่น กินข้าวเอง, ดื่มน้ำเอง, ใส่เสื้อผ้าเอง และที่สำคัญควรพาลูกไปเจอเพื่อนๆในวัยเดียวกันบ้าง เพราะลูกจะได้รู้จักการแบ่งปันและการได้รับค่ะ
3) ให้ลูกได้ตัดสินใจเองบ้าง เอาเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆก็ได้ เช่น ใส่เสื้อตัวไหนดี, มื้อเย็นอยากกินอะไร เป็นต้น
4) คุยกับลูกให้บ่อยขึ้น เล่นกับลูก ให้ความรัก กอดลูกให้มากๆ ลูกก็จะไม่เป็นเด็กก้าวร้าวแน่นอน
5) หากลูกเถียง ก็ให้คุณแม่ทำการเตือนแล้วตามด้วยผลที่ตามมา เช่น ถ้ายังเถียงแม่อีก แม่จะไม่ให้ดูทีวี เป็นต้น
6) การใช้เทคนิคเพิกเฉย
ก็เป็นวิธีการที่ดีในการปราบลูกดื้อได้เหมือนกัน โดยให้คุณแม่ทำตามขั้นตอนนี้
ขั้นตอนแรก เมื่อลูกดื้อ ให้คุณแม่สงบสติอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน ทำใจเย็นเข้าไว้
ขั้นตอนที่สอง สบตาลูก แล้วพูดด้วยน้ำเสียงนิ่งๆ จริงจังว่า “แม่จะรอให้ลูกเงียบ เราถึงค่อยคุยกัน”
ขั้นตอนที่สาม ให้ทำเป็นเพิกเฉยใส่ลูก ทั้งคำพูด ท่าที สายตา ไม่ต้องพูดซ้ำให้ลูกเงียบ รวมถึงไม่เข้าไปเช็ดน้ำตาให้ลูก ไม่กอด ไม่หอม แต่อย่าทำท่าทีว่าจะทิ้งเขาไป ให้ทำทีว่ามีอย่างอื่นให้ต้องทำ เช่น ซักผ้า ล้างจาน เป็นต้น
ขั้นตอนที่สี่ เมื่อลูกเริ่มเงียบ ให้กลับไปหาลูก เพื่อตอกย้ำเขาว่า แม่จะเข้าไปหาเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ดี เงียบ และจะถูกเพิกเฉยเมื่อลูกเอาแต่ร้องไห้ เอาแต่ใจ แล้วชมลูกว่า “ลูกเงียบแล้ว ลูกแม่เก่งมาก” แล้วถามลูกว่า “เมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น” เพื่อให้ลูกทบทวนเรื่องราวของตัวเอง ทั้งยังเป็นการกระตุ้นความฉลาดด้านการเข้าใจตัวเองของลูกไปในตัวด้วย แต่หากลูกยังเล็กมาก เราก็ต้องค่อยๆพูดให้ลูกเข้าใจ ขั้นตอนที่สี่ที่ต้องกลับไปหาลูกก็ต้องสั้นกว่าเด็กโต ลูกจะได้เรียนรู้ว่าเวลาที่ลูกหยุดร้องไห้และหยุดงอแงเท่านั้น แม่ถึงจะให้ความสนใจ หลังจากนั้นก็หากิจกรรมที่ลูกชอบทำเพื่อเป็นการปลอบใจลูก อาจจะเล่านิทาน, เล่นด้วยกัน เป็นต้น
หากลูกดื้อคุณแม่ก็ต้องใจแข็งให้มากๆนะคะ อย่าใจอ่อน ไปโอ๋ ไปตามใจเขาเด็ดขาด เพราะจะทำให้ลูกเคยตัวได้ การมอบความรัก ความเอาใจใส่จากคนในครอบครัว ก็เป็นการเลี้ยงดูที่ดี ที่จะทำให้ลูกไม่ดื้อ และไม่มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวได้ ยังไงก็ขอให้คุณแม่เปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้โดยเร็วนะคะ เชื่อว่าอีกไม่นานลูกจะต้องกลับมาเป็นคนดีของคุณแม่ได้อย่างแน่นอนค่ะ