ลูกร้องไห้กลางดึก

สาเหตุและวิธีรับมือ ลูกร้องไห้กลางดึก ทำอย่างไงดี

คุณแม่คนไหนที่มีลูก คงประสบปัญหากับการที่ลูกร้องไห้กลางดึกกันแน่ๆ คุณแม่มือใหม่ก็คงเครียดไม่รู้จะรับมืออย่างไรดี ได้แต่ปลอบลูกกว่าลูกจะนอนอีกทีก็โน้นสว่างคาตาก็มี แต่จะบอกให้คุณแม่มือใหม่ไม่ต้องกังวลเลย เพราะร้อยละ 70 ของเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบตื่นมาร้องไห้กลางดึกไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติเลย มันเป็นเพราะว่าเด็กไม่เคยฝึกให้นอนได้เองจึงตื่นมาร้องไห้กลางดึกนั่นเองค่ะ และอาจจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น การนอนฝันร้าย ปัญหาสุขภาพ เป็นต้น แต่หากลูกยังร้องไห้กลางดึกอีก เราก็มีวิธีรับมือมาฝากคุณแม่มือใหม่กันค่ะ

สาเหตุ ลูกร้องไห้กลางดึก

ภาพจาก Thainannyclub

สาเหตุและวิธีการรับมือลูกร้องไห้กลางดึก

1) มีปัญหาสุขภาพ

ที่ลูกร้องไห้กลางดึกเป็นไปได้ว่าลูกอาจกำลังเจ็บป่วย ไม่สบายตัวหรือโดนแมลงกัด ถ้าเป็นกรณีนี้จริงลูกจะร้องไห้อยู่สักชั่วครู่ คุณแม่ไม่ต้องไปอุ้มลูกมาปลอบหรือให้นมในมื้อดึกเลย เพราะจะเป็นการสร้างความเคยชินให้กับลูกน้อย แต่ควรจะเอื้อมมือไปแตะตัวลูกเบาๆแทนเพื่อให้ลูกรู้ว่าแม่อยู่นี่นะ แต่หากลูกร้องไห้เพราะมีอาการเจ็บป่วย ตัวร้อน คุณแม่ต้องรีบเข้าไปดูแลและหาทางรักษาทันทีเลย โดยการเช็ดตัวให้ไข้ทุเลาลงและให้ยาแก่ลูก หากร้องไห้เพราะเป็นผื่นคัน คุณแม่ก็ต้องหาทางแก้ให้ลูกหายคันโดยเร็ว เพื่อที่ลูกน้อยจะได้นอนหลับอย่างสบายอีกครั้ง แต่หากทำทุกวิถีทางแล้ว ลูกยังไม่หยุดร้องไห้อีก ก็รีบพาลูกไปพบแพทย์ด่วน เพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไปค่ะ

2) ฝันร้าย

อาการฝันร้ายมีกันได้ทุกคนตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ เด็กจะเริ่มมีอาการฝันร้ายเมื่ออายุได้ประมาณ 3 – 6 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเข้าโรงเรียน ซึ่งวัยนี้จะเป็นวัยแห่งการจินตนาการค่อนข้างสูง ฝันร้ายจะเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นน่ากลัว เช่น เรื่องผี จมน้ำ ตกจากที่สูงหรือความตาย ฝันร้ายจะเกิดในช่วง REM Sleep คือช่วงหลับของเด็กที่จดจำเหตุการณ์ได้ จะเกิดช่วงเวลาตี 4 ตี 5 มันจะแตกต่างจากการร้องไห้ตกใจตอนเวลากลางคืนที่มักจะเกิดช่วงหัวค่ำ หลังจากเด็กนอนไปได้ไม่นาน หากลูกร้องไห้กลางดึกเพราะฝันร้าย คุณแม่ก็ไม่ต้องตกใจไป เพียงแค่ปลอบลูกและทำให้ลูกรู้สึกสบายแค่นี้ก็พอ พอตอนเช้าก็ค่อยถามว่าเมื่อคืนฝันถึงอะไร ให้ลูกเล่าความฝันให้ฟัง หรืออาจจะเล่านิทานก่อนนอนให้ลูกฟัง ทำให้ลูกลืมฝันร้ายไปได้ค่ะ

3) นอนละเมอ

คือการกระทำต่างๆ อาจจะเป็นพูด เดิน ผวาโดยไม่รู้ตัวขณะนอนหลับ ตอนตื่นนอนก็จำอะไรไม่ได้ ซึ่งการนอนละเมอของลูกนี้อาจเกิดจากการที่ลูกทำกิจกรรมในช่วงกลางวันแล้วมีเรื่องที่หวาดกลัวหรือตื่นเต้น ทำให้ลูกฝังใจจนเก็บไปฝัน หรือเกิดจากการพัฒนาของระบบประสาทที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงทำให้ละเมอตอนกลางคืนและงอแงได้ ซึ่งกรณีนี้จะเกิดเฉพาะกับเด็กบางคนเท่านั้นค่ะ วิธีรับมือการที่ลูกนอนละเมอก็ให้คุณแม่อุ้มลูกมากอดไว้ ลูกหัวเบาๆพร้อมกับโยกตัวเบาๆและปลอบให้ลูกนอนต่อ อาจจะนอนกอดลูกด้วยก็ได้ ให้เค้ารู้สึกว่ายังมีแม่อยู่ใกล้ๆ เค้าจะได้อุ่นใจค่ะ แต่หากลูกละเมอเดินละก็ อันตรายแน่ ทางแก้ก็ให้คุณแม่ปรับสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้ปลอดภัย โดยการจัดห้องนอนให้โล่ง เพื่อป้องกันให้ลูกไม่ละเมอโดนชนสิ่งของจนเกิดอุบัติเหตุ ประตูหน้าต่างก็ต้องล็อกแน่นหนา ป้องกันเด็กตกลงไป และควรหลีกเลี่ยงเตียงสองชั้น ให้ใช้เตียงธรรมดาหรือฟูกแทน หรือไม่งั้นทางแก้ที่ดีที่สุดก็ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนคนเดียวจะดีกว่าค่ะ

การฝึกให้ลูกหลับเอง

ภาพจาก AMARIN Baby And Kids

การฝึกให้ลูกหลับเอง

คุณแม่เริ่มการฝึกวินัยให้ลูกหลับเองได้ตั้งแต่เล็กๆเลย โดยช่วงวัยที่เหมาะสมคืออายุ 7 – 8 เดือน เพราะเป็นช่วงอายุที่เด็กสามารถหลับยาวได้ค่ะ ซึ่งวิธีการฝึกให้ลูกหลับเองมีดังนี้

  1. ให้ลูกเข้านอนเป็นเวลา และไม่ให้ลูกทานมื้อดึกเพื่อป้องกันลูกร้องไห้กลางดึกค่ะ
  2. เริ่มฝึกให้ลูกนอนบนเตียงในขณะที่ลูกกำลังจะเคลิ้มแต่ยังไม่หลับ แล้วตบก้นบนๆแต่ไม่ต้องอุ้มขึ้นมาพร้อมกับพูดกับลูกด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า “หลับฝันดีนะคะลูก”
  3. ไม่อุ้มลูกขึ้นมากล่อมหรือป้อนนมให้ลูกจนหลับไป
  4. หากลูกร้องไห้กลางดึกก็ให้คุณแม่ทำเฉยไว้ก่อน ปล่อยให้ลูกหลับเอง แต่หากลูกร้องนานก็เข้าไปตบก้นเบาๆหรือหาตุ๊กตามาให้ลูกกอด ก็ช่วยได้ค่ะ

วิธีที่เราแนะนำนี้จะประสบผลสำเร็จได้ คุณแม่ต้องใจแข็งและอดทนให้มากๆนะคะ เพราะหากคุณแม่ใจอ่อนอุ้มลูกขึ้นมาทุกครั้งที่ลูกร้องไห้กลางดึก ก็จะทำให้เด็กเกิดความเคยชินและก็จะร้องไห้กลางดึกแบบนี้ไปตลอดจนกว่าคุณแม่จะลุกขึ้นมาอุ้ม แต่หากคุณแม่ใจแข็งได้ ลูกก็จะรู้ละว่าใช้วิธีร้องไห้แบบนี้ไม่ได้ผล เด็กก็เริ่มเรียนรู้ที่จะหลับไปเองได้ คืนต่อๆไปลูกก็จะร้องไห้น้อยลง และไม่ร้องไห้ในที่สุดค่ะ